ใบ เป็นโครงสร้างที่สำคัญของพืชทุกชนิด และพืชแต่ละชนิดก็มีรูปรางของใบที่แตกต่างกัน เช่น ใบเรียวยาว ใบกลม ใบรี เป็นต้น แม้จะมีลักษณะใบที่แตกต่างกัน แต่ใบของต้นไม้ทุกชนิด จะมีมีหน้าที่เหมือนกัน คือ สร้างอาหาร หายใจ และ คายน้ำ
ใบของพืชมีกระบวนการคายน้ำ จึงทำให้เกิดการลำเลียงน้ำ แร่ธาตุ สารอาหารต่าง ๆ ภายในต้นพืชอย่างต่อเนื่อง พืชจะคายน้ำออกทางใบ เพราะใบไม้จะมีส่วนสำคัญ คือ ปากใบ มีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ กระจายตัวอยู่ที่ใบพืช ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูปากใบพืชแต่ละชนิดได้ ซึ่งจะพบปากใบพืชอยู่ผิวใบด้านล่าง มากกว่าผิวใบด้านบน
ปากใบ จะทำหน้าที่ในการหายใจ โดยมีการแลกเปลี่ยนแก๊สทางปากใบ และคายน้ำออกมาผ่านปากใบ
ใบพืชแต่ละชนิดจะมีสีสันที่แตกต่างกัน แต่เราจะพบว่าพืชจะมีใบสีเขียวมากที่สุด เพราะในใบพืชมีสารสีเขียว เราเรียกว่า คลอโรฟิลล์ ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นในการสร้างอาหาร เรียกกระบวนการนี้ว่า กระบวนการสังเคราะห์แสง
กระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
คลอโรฟิลล์ +แก๊สคาร์บอนไดออกไซต์+น้ำ
คลอโรฟิลล์ – ทำหน้าที่ดูดกลืนแสงแดด เพื่อนำแสงมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน
แก๊สคาร์บอนไดออกไซต์ – พืชจะดูดแก๊สคาร์บอนไดออกไซต์จากอากาศ เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง
น้ำ – พืชจะดูดน้ำผ่านราก ลำต้น สู่ใบ เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง
เมื่อพืชทำการสังเคราะห์แสงสมบูรณ์ ผลที่ได้ คือ น้ำตาลกลูโคส ซึ่งเป็นอาหารของพืชจะถูกลำเลียงไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของต้นต่อไป และเกิดการคายแก๊สออกซิเจนออกมาจากทางปากใบ ทำให้อากาศบริสุทธิ์
ดังนั้นเราจะสังเกตุได้ว่า เมื่อเราไปนั่งใต้ต้นไม้ ในช่วงตอนกลางวัน อากาศจะเย็นสบาย อากาศบริสุทธิ์ เพราะเราได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่จากกระบวนการสังเคราะห์แสงในตอนกลางวันของต้นไม้นั้น ๆ